กระบวนการรักษาภาวะมีบุตรยาก ทำได้มากสุดกี่ครั้ง
คุณแม่ๆ อาจมีข้อสงสัยที่ว่า กระบวนการรักษาภาวะมีบุตรยาก ทำได้มากสุดกี่ครั้ง ที่จะไม่เพิ่มโอกาสสำเร็จถ้ายังคงรักษาต่อเนื่อง และจะส่งผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่ วันนี้จีน่ากลับมาไขข้อข้องใจให้แล้วค่ะ
1. IUI ( การฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก )
โดยทั่วไปแนะนำว่าสามารถทำต่อเนืองได้ แต่ไม่ควรเกิน 6 รอบของการรักษา เนื่องจากอัตราความสำเร็จหรืออัตราการตั้งครรภ์สะสมหลังการทำIUI มากกว่า 6 ครั่ง ไม่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงหรือผลเสียจากยา โดยเฉพาะในรายที่ใช้ clomiphene citrate ในการกระตุ้น จึงแนะนำไม่ควรรักษาเกิน 6 รอบ นอกจากนี้การทำ IUI เกินกว่า 6 รอบการรักษา ไม่ได้เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์มากนัก จึงควรเปลี่ยนวิธีการรักษาเป็นการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF/ICSI)
2. IVF/ICSI (การกระตุ้นไข่เพื่อทำเด็กหลอดแก้ว )
สามารถทำได้หลายๆรอบค่ะ จากข้อมูลที่ในปัจจุบัน ไม่มีหลักฐานที่พบว่าการกระตุ้นไข่ซ้ำๆ ( เช่น มากกว่า 4-10 รอบ) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งของอวัยวะต่างๆ เช่น เต้านม มดลูก รังไข่ เป็นต้น และไม่พบว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพในด้านต่างๆ เช่นกัน ดังนั้นจึงไม่มีข้อจำกัดว่าสามารถกระตุ้นไข่ได้สูงสุดกี่รอบ หากว่าการรักษาด้วยวิธีนี้ ยังมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้ และเป็นการกระตุ้นเพื่อการรักษาภาวะมีบุตรยากของตัวเอง สามารถทำต่อเนื่องได้ค่ะ
3. การกระตุ้นไข่เพื่อบริจาคไข่ให้ญาติโดยถูกต้องตามกฎหมาย (โดยอ้างอิงจากพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์) แนะนำให้กระตุ้นได้ไม่เกิน 3 รอบ
คุณแม่ๆ ทราบข้อมูลเหล่านี้แล้ว ก็สบายใจได้นะคะว่า กระบวนการรักษาจะไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรได้รับการรักษาโดยวิธีที่เหมาะสม ในจำนวนที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน ที่สำคัญควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุ อันเป็นสาเหตุที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล และเลือกขบวนการรักษาที่เหมาะสมที่สุดอีกครั้งค่ะ